เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า มาบ้างแน่นอน จากข่าวการฆ่าตัวตายโดยมีโรคนี้เป็นสาเหตุ และข่าวน่าสลดนี่ก็ดูจะมีการเกิดขึ้นมาบ่อยขึ้นทุกวัน แต่รู้หรือไม่ว่า โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษา ผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้าร้องไห้บ่อยๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมจึงรู้สึก เศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมวิธีป้องกัน ไม่ให้โรคนี้ได้เกิดขึ้นกับตัวคุณ
โรคซึมเศร้า ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายากการรักษาที่สำคัญในโรคนี้คือการรักษาด้วยยา แก้เศร้าโดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น
“ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หรือ Clinical depression หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ Depressive Episode) และ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงได้
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม, ทางสภาพจิตใจ, ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย ดังนี้
- โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์
- สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู ก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
- การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้
อาการของโรคซึมเศร้า
- โรคซึมเศร้ามีอาการรู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
- ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
- น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
- คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะรู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
- อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
- กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
- คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย
ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า” หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน
วิธีการรักษา
ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักดังนี้
- การรักษาด้วยยา การใช้ยาแก้เศร้า เนื่องจากโรคซึมเศร้าสาเหตุที่พบเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองดังที่ได้กล่าว แล้วข้างต้น ดังนั้นการให้ยาแก้เศร้าเพื่อไปปรับสมดุลสารเคมีในสมองจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างมาก ยาแก้เศร้าช่วยบรรเทาอาการเศร้า ทานยาจนรู้สึกดีขึ้น และเมื่อดีขึ้นแล้วควรทานยาต่อไปอีก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำอีก ดังนั้นแม้จะ รู้สึกสบายดีก็ยังต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่าง ต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ เนื่องจากผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะกลับมาป่วยซ้ำหรืออาจมีอาการ กำเริบซ้ำ จึง ถือว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับยาระยะยาว
- การรักษาทางจิตใจ มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ พูดคุยกับจิตแพทย์ อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจตนเอง สาเหตุที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ซึมเศร้า เข้าใจปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมในที่สุด วิธีการที่พบว่าสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี คือ
2.1 การรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม เชื่อว่าอาการของผู้ป่วยมีสาเหตุจากการมีแนวคิดที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะในหลายครั้ง บางคนทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง เช่นมองตนเองในแง่ลบ มองสิ่งต่างๆแง่ลบ เกินความจริง ดังนั้น การรักษา มุ่งแก้ไขแนวคิดของผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความจริงมากขึ้น รวมถึงการปรับพฤติกรรม ใช้ทักษะใหม่ที่เหมาะสมมากขึ้นในการแก้ปัญหา
2.2 การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การรักษามุ่งให้ผู้ป่วยมีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อื่นที่ดีขึ้น
2.3 การรักษาจิตบำบัดเชิงลึก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจปมขัดแย้งที่อยู่ในจิตใจตนเอง จนนำมาสู่โรคซึมเศร้า
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆแต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว แต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น ในขณะที่คุณกำลังซึมเศร้าอยู่นั้น มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
- การออกกำลังกาย การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
- อย่าคาดหวังหรือตั้งเป้าหมายยากเกินไป ทั้งในการทำงานและการปฏิบัติตัว ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่ หวัง
- เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่นไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน
- พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละช่วง คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น
- อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่นการหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นๆ
- เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไรๆ แย่ลวงจริงๆ ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิด
- การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา ว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่นๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่
คำแนะนำสำหรับญาติ
ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ป่วย ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ ทั้งๆที่เรื่องที่มากระทบก็ดูไม่หนักหนานก ทำให้บางคนพาลรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง เห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ เป็นคน “ไม่สู้” ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงต้องเศร้าเสียใจขนาดนี้ ท่าทีเช่นนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกว่าตัวเองยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น
ทำให้จิตใจยิ่งตกอยู่ในความทุกข์ แต่ทั้งนี้ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง “เจ็บป่วย” อยู่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจ ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป
ดังนั้นหากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย มีข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วยดังนี้
- รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ โดยไม่ตัดสิน อารมณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อ่อนไหวมาก และ หลายครั้งเข้าใจยาก การรับฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ตัดสิน จะช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นที่มีคนพร้อมจะเข้าใจตัวเขาอย่างแท้จริง
- ชวนผู้ป่วยคุยบ้างเล็กน้อย ด้วยท่าทีที่สบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยไม่กดดัน ไม่คาดหวัง ไม่คะยั้นคะยอว่าผู้ป่วยต้องพูดคุยโต้ตอบได้มาก เพราะท่าทีที่คาดหวังมากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ที่ทำให้ญาติผิดหวัง
- เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดความรู้สึก ที่ไม่ดี ที่รู้สึกแย่ ต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะความคิดอยากฆ่าตัวตาย การที่ผู้ป่วยได้พูดได้ระบายออกมาจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้ อย่างมาก
โรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า
ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง อาจมีเบื่ออาหารแต่เป็นไม่มาก ยังพอนอนได้ เมื่อเวลาผ่านไป ค่อยๆ ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าที่มีก็จะทุเลาลง
โรคอารมณ์สองขั้ว ในโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
โรควิตกกังวล พบบ่อยว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการวิตกกังวล ห่วงโน่นห่วงนี่ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรควิตกกังวล ที่ต่างกันคือในโรควิตกกังวลนั้น จะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านั้นนอกจากอาการวิตกกังวลแล้วก็จะพบอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต ร่วมด้วยโดยที่อาการอารมณ์เศร้านี้จะเห็นเด่นชัดกว่าอาการวิตกกังวล
อย่างไรก็ตามอย่าลืมไปสำรวจตัวเองด้วยล่ะ ว่ามีอาการที่ตรงกับการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือเป็นโรคที่ใกล็เคียงกับโรคซึมเศร้าหรือป่าว เพื่อที่จะได้รีบรักษาอย่างทันท้วงที
อร่อยแซ่บกลางกรุงฯ ร้านบ้านส้มตำ อาหารอีสานเลิศรส ร้านบ้านส้มตำ “อาหารอีสาน” เป็นอีกหนึ่งอาหารรสแซ่บที่ถูกปาก “ตระเวนกิน” เป็นอย่างยิ่ง เพราะเวลาได้กินอาหารรสจัดจ้านช่วยทำให้เจริญอาหารดีนักเชียว ว่าแล้วในมื้อนี้เราก็นึกอยากกินอาหารอีสานขึ้นมา
อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม : 7 เคล็ดลับทาครีมกันแดดให้ได้ผล!